|
งานประเพณีตรุษไท
ความเป็นมาของประเพณีตรุษไทภูผาม่าน ประเพณีตรุษเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณที่ถือปฏิบัติทั้งทางราชการและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการทำบุญเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามแบบโบราณ เนื่องจากไทยกำหนดเปลี่ยนปีทางจันทรคติ ดังนั้นจึงถือวันสิ้นเดือนสี่เป็นปีเก่า วันขึ้นเดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ จึงมีการทำบุญ และมีการละเล่นเพื่อแสดงความยินดี ร่าเริง เฉลิมฉลองด้วยการกิน การดื่ม การเที่ยว การละเล่น
ส่วนทางราชการเรียกพิธีตรุษนี้ว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นพระราชพิธีที่กระทำเพื่อจะได้เป็นสวัสดิมงคลแกพระนคร พระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้า ข้าราชการฝ่ายใน ตลอดจนราษฎร ประเพณีตรุษไทภูผาม่านเป็นประเพณีที่ได้รับแบบอย่างมาจากบรรพบุรุษ คือ หมื่นหร่าม (ภูมิ) เดิมเป็นชาวนครไทย ได้พาสมรรคพรรคพวกอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบเมืองคอนสาร (อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ) เมื่อประมาณต้นรัชกาลที่ ๑ หลังจากตั้งบ้านเรือนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้นำจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติที่บ้านเดิมของท่านนำมาปฏิบัติด้วย นั่นคือประเพณีเลี้ยงเดือน ประเพณีเลี้ยงปี และประเพณีตรุษไทย สำหรับบ้านโนนคอม บ้านเซิน ชาวบ้านเป็นชาวคอนสารที่อพยพมาทำนาทำไร่แต่ไม่กลับบ้านเดิม จึงขยายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา ตรุษ แปลว่า ตัดหรือขาด คือตัดปี ขาดปีหรือสิ้นปี หมายถึงวันสิ้นปีผ่านไปแล้ว ซึ่งเดิมกำหนดวันสิ้นปีคือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ และกำหนดเอาวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับวัน นับเดือนทางจันทรคติ ซึ่งเป็นการถือคติของพราหมณ์ การทำบุญในวันสิ้นปีเนื่องในพิธีตรุษนี้นับได้ว่าเป็นประเพณีที่มีมาช้านาน เป็นประเพณีที่ถือว่าเป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่สำหรับพระมหานครตลอดจนชาวบ้านทั่วไป มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ถึงสามวันคือ วันแรม ๑๔ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ และขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า มีการสวดอาฎานาฏิยสูตร เพื่อเป็นการระงับอันตรายแก่หมู่บ้านทั้งหลาย และเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้แก่เทพยดาอารักษ์ ยักษ์นาค กุมภัณฑ์ อมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายขอให้อยู่เย็นเป็นสุขนอกจากนี้ยังมีการยิงปืนเพื่อขู่ผีให้กลัวด้วย ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีปืนจะใช้วิธีใช้ไม้เคาะกันให้เกิดเสียงดัง
ตอนเช้าวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสี่ ซึ่งถือว่าเป็นวันสุดท้ายของปีเก่า ชาวบ้านจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ที่คิดว่าสวยงามที่สุด พากันนำข้าวปลาอาหารไปถวายพระและอุทิศส่วนกุศลหาบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วและนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะได้ขอพรจากญาติผู้ใหญ่ภายในหมู่บ้านที่ไปร่วมทำบุญที่วัดในเช้าวันนี้ นอกจากการทำบุญและขอพรแล้วยังมีการละเล่นเพื่อความสนุกสนานและเป็นการแสดงถึงความเคารพต่อผีเจ้าผีนายด้วย เนื่องจากในตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ทุกคนทุกครอบครัวต่างก็ออกไปประกอบอาชีพตามไร่ ตามนาหรือต่างถิ่น เมื่อถึงกำหนดวันตรุษไทภูผาม่านทุกคนจะกลับมาบ้านเกิดของตนเอง สาเหตุที่เวลาไปทำนา ทำไร่ ต้องอพยพครอบครัวไปด้วยเนื่องมาจากสภาพพื้นที่อำเภอภูผาม่านและอำเภอคอนสารเต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิดและมีภูเขาเป็นจำนวนมากจะมีเพียงแม่น้ำเซินเป็นเส้นแบ่งเขตแดนในการกลับมาบ้านในครั้งนี้จึงมีการเฉลิมฉลองด้วยการดื่ม การกิน การเล่น ซึ่งทุกครอบครัวจะจัดเตรียมข้าวปลาอาหารและขนมต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมากสำหรับเก็บไว้เลี้ยงแขกที่จะมาเยี่ยมเยือน
ประเพณีตรุษไทภูผาม่านนอกจากจะเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความยินดีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษทั้งที่มีชีวิตและที่ตายไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่แสดงถึงการเคารพบูชา ผีเจ้านายอีกด้วย จากการศึกษาภาคสนามคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้านายที่ปกปักษ์รักษาชาวไทภูผาม่านมี ๔ พระองค์ คือ ๑. เจ้าโก้ม หรือ ท้าวโก้ม ๒. เจ้าเพียวัง เป็นพระอนุชาของเจ้าโก้ม ๓. เจ้าดอกไม้ ๔. เจ้าสุขเกษม ทั้งสี่พระองค์นี้ท่านว่ามาจากนครเวียง หรือเวียงจันทน์ มาเข้าทรงครั้งแรกเข้าทรงร่างของพ่อย้วม และแม่บัว ทั้งสองท่านนี้เดิมเป็นชาวนครไทย จังหวัดพิษณุโลกซึ่งอพยพมาอยู่ที่บ้านเซิน แขวงเมืองภูเวียง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ส่วนแม่บัวเป็นผู้ถือเจ้าเข้าทรง เจ้าผู้เข้าทรงชื่อว่าเจ้าโก้ม เจ้าผู้ที่ถือว่าเป็นใหญ่กว่าทุกพระองค์ การเข้าทรงของเจ้านายทั้งสี่พระองค์นี้คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่าคนที่ถูกเลือกเป็นร่างทรงนั้นจะเป็นคนที่มีผมมักมีกลิ่นหอม หรือเกษามีกลิ่นหอม และมักจะเลือกเข้าทรงในร่างทรงที่เป็นหญิง จะไม่เข้าทรงร่างทรงที่เป็นผู้ชาย สิ่งของที่ใช้จัดเลี้ยงผีเจ้านายประกอบด้วยเครื่องบูชา เครื่องสังเวยอันประกอบด้วย ข้าวปลา อาหารคาว หวานต่าง ๆ และสัตว์พาหนะซึ่งได้แก่ช้าง หรือม้าซึ่งทำด้วยไม้ทาด้วยสีขาวสำหรับไว้ให้เจ้านายทั้งสี่พระองค์ใช้ทรงในการเดินทางไปมาระหว่างหมู่บ้านกับนครเวียงจันทร์บ้านเดิมของท่าน ข้าว ปลา อาหาร ที่จัดใช้ในครั้งนี้เป็นข้าว ปลา อาหารที่จัดเตรียมสำหรับใช้ในงานประเพณีตรุษไทภูผาม่านทั้งสิ้น ส่วนสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมเป็นศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่าหอ หรือโฮง ซึ่งชาวบ้านได้อัญเชิญท่านทรงประทับ เมื่อร่างทรงคนเดิมเสียชีวิตเจ้านายเหล่านี้ก็จะหาร่างทรงคนใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีผมหอม หรือมีเกษามีกลิ่นหอม เมื่อถึงกำหนดเวลาเลี้ยงเดือน เลี้ยงปี ผีเจ้านายก็จะเข้าทรงร่างทรงของท่านทันที และชาวบ้านจะได้สอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งคำพยากรณ์ประจำหมู่บ้านด้วย หากเมื่อใดที่ชาวบ้านต้องการบนบาลศาลกล่าวต่อท่าน เช่น ลูกหลานจะเดินทางไปประกอบอาชีพหรือไปทำมาหากินหรือลูกชายถูกเกณฑ์ทหาร ก็นำดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสังเวย แล้วไปขอพรจากเจ้านายทั้งสี่พระองค์ เพื่อให้ท่านปกปักษ์รักษา ช่วยป้องกันอันตรายอันจะเกิดแก่บุคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อให้พบกับความปลอดภัยและกลับมาบ้านเดิมโดยสวัสดิภาพและอีกประการหนึ่งเพื่อช่วยปกปักษ์รักษาบ้านเมืองให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และนอกจากนี้ยังเป็นการบูชาเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากเภทภัย พยาธิ และอันตรายทั้งหลายทั้งปวงไม่มากล้ำกราย เมื่อถึงกำหนดกลับมาบ้านและอยู่รอดปลอดภัยหรือหายจากอาการเจ็บป่วย ปลอดภัยจากการไปเป็นทหาร หรือปลอดภัยกลับจากไร่นา เมื่อกลับมาแล้วจะทำเครื่องสังเวย ดอกไม้ธูปเทียนไปเซ่นไหว้แก้บนก่อน แล้วในประเพณีตรุษไทภูผาม่านก็จะทำการสังเวยรวมกันทั้งหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเจ้าจ้ำเป็นตัวแทนในการนำเครื่องสังเวยไปถวาย ซึ่งจะจัดเก็บเครื่องสังเวย ดอกไม้ ธูปเทียน ตามบ้านต่าง ๆ ในตอนเย็นของวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสี่ แล้วนำไปถวายท่านในตอนเช้ามืด ในวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสี่และบอกกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ ต่อท่านก่อนที่จะมาร่วมพิธีที่วัด ดังนั้น ประเพณีตรุษไทภูผาม่าน จึงเป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบโบราณ และนอกจากนี้ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อผีเจ้านายและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรอีกด้วย
ส่วนราชการเข้ามามีบทบาทในประเพณีตรุษไทภูผาม่านในช่วงที่นายรังสรรค์ หนุนภักดี เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอภูผาม่าน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื่องจากท่านเห็นชาวไทภูผาม่านในยุคนี้ส่วนมากนิยมเล่นการพนัน เช่น ไพ่ โบก ไฮโล จึงมีนโยบายที่จะดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมกิจกรรมสมัยใหม่ จึงจัดงานประเพณีตรุษไทภูผาม่านระดับอำเภอขึ้น โดยได้นำกีฬาสากลเข้ามาเสริมการละเล่นในสมัยโบราณ กีฬาที่นำเข้ามาคือ มวย จะชกกันตอนกลางวัน เปรียบได้คู่แล้วจะชกกันเลยไม่เก็บค่าผ่านประตู เป็นการชกมวยเวทีกลางแจ้งและเป็นการชกกันฟรี ๆ ไม่มีค่าตัวฟุตบอล แต่ละหมู่บ้านจะจัดทีมฟุตบอลมาแข่งขันกัน เพื่อหาทีมที่ชนะเลิศระดับอำเภอ ในระยะแรกเป็นการแข่งขันฟุตบอลเแพาะทีมของหมู่บ้านในกิ่งอำเภอภูผาม่าน หรือฟุตบอลแบบปิด คือผู้เล่นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามที่ตนเองลงแข่ง แต่ต่อมามีการรับสมัครทีมบุคคลภายนอกหรือให้ดึงตัวผู้เล่นมาจากถิ่นอื่นได้ ตะกร้อ ในระยะแรกเป็นการแข่งขันภายในเหมือนกับฟุตบอล และต่อมาก็มีการรับทีมภายนอกเข้าร่วมแข่งขัน กรีฑาทางตรง ๑๐๐ เมตร ผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นนักวิ่งของแต่ละหมู่บ้าน แชร์บอล แต่ละหมู่บ้านส่งทีมเข้าแข่งขัน วิ่งกระสอบ เป็นต้น จุดประสงค์หลักคือ ต้องการให้ไทภูผาม่านเลิกเล่นการพนัน ดังนั้นการละเล่นในประเพณีตรุษไทภูผาม่านในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๓๗ เป็นการแข่งขันกีฬาสากลมากกว่าการละเล่นพื้นบ้านตามแบบประเพณีดั้งเดิม
ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙ ด้วยการเล็งการไกลของ นายสงคราม สุขสะอาด นายอำเภอภูผาม่านคนแรก จึงมีนโยบายฟื้นฟูประเพณีตรุษไทภูผาม่าน และการละเล่นแบบดั้งเดิมเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามและเก่าแก่ของอำเภอภูผาม่าน ดังคำขวัญของอำเภอภูผาม่านที่ว่า “ ภูผาม่าน อุทยานขุนเขา ฝูงค้างคาวนับล้าน แลละลานถั่วเหลือง ลือเลื่องเครื่องดื่มสมุนไพร ตรุษไทเทศกาล” ดังนั้นประเพณีตรุษไทภูผาม่าน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่จัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๑๙ - ๒ๆ มีนาคม ๒๕๓๙ รวมเวลาสองวัน โดยมีจุดประสงค์ของการจัดงานสองประการด้วยกัน คือ ๑. เพื่อสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ๒. เพื่อส่งเสริมความสามัคคีของชาวอำเภอภูผาม่านโดยการแข่งขันการละเล่น การดำเนินการจัดงานประเพณีตรุษไทภูผาม่านได้รับความร่วมมือจากบุคคลและหน่วยงานทุกหน่วยงานในอำเภอภูผาม่าน
|
|